นมอินทรีย์ ที่แดรี่โฮม

นมอินทรีย์ ที่ แดรี่โฮม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชายผู้ที่รักและยืนหยัดในอาชีพการเลี้ยงโคนมมาอย่างยาวนานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง จากฟาร์มโคนมที่เน้นการผลิตน้ำนมส่งเข้าโรงงานเฉกเช่นเดียวกับเกษตรกรโดยทั่วไปของประเทศ กลายมาเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง

สิ่งที่ชายผู้ที่มีชื่อ พฤฒิ เกิดชูชื่น แห่ง บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 100/1 ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทร. (089) 801-9988 ยืนยัน คือ ชีวิตของเขาผูกพันกับโคนมมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเรียน การทำงาน และมาถึงวันนี้เขาก็ยังผูกพันกับการเลี้ยงโคนม ในฐานะเจ้าของแดรี่โฮม แหล่งเลี้ยงและผลิตนมขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของเมืองไทย

และที่สำคัญอีกประการคือ เขาคือ หนึ่งในผู้บุกเบิกการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ของประเทศไทย และถือว่า แดรี่โฮม คือฟาร์มโคนมอินทรีย์แห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์

 

จุดก่อเกิด ฟาร์มโคนมอินทรีย์

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชายผู้ที่รักและยืนหยัดในอาชีพการเลี้ยงโคนมมาอย่างยาวนานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง จากฟาร์มโคนมที่เน้นการผลิตน้ำนมส่งเข้าโรงงานเฉกเช่นเดียวกับเกษตรกรโดยทั่วไปของประเทศ กลายมาเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง

“เพราะผมเลือกหนทางที่ทำอย่างไรให้ดีกว่า”

เจ้าของ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บอกกล่าวถึงสิ่งที่เป็นแรงจูงใจ เมื่อเขาพบว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ต้องประสบปัญหา โดยเฉพาะการที่ต้องเปิดเสรีให้มีการนำเข้านมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบอย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

“ผมจำได้ เมื่อหลายปีก่อน พอมีข่าวออกมาว่า รัฐบาลได้ไปเซ็นสัญญากับทางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้สามารถส่งนมเข้ามาขายในประเทศไทยได้ มีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เลิกอาชีพการเลี้ยงโคนมไปเลย เพราะมองแล้ว อยู่ต่อไปไม่ไหว ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างแน่นอน” คุณพฤฒิ กล่าวถึงสภาพที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ยังเป็นภาพที่ยังแจ่มชัดมาจนถึงปัจจุบัน

“อย่าง ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น เขามีต้นทุนการเลี้ยงที่ถูกกว่าบ้านเรามาก การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเมืองไทยจะสามารถสู้ได้ ผมมองแล้วมีหนทางเดียวคือ ทำให้ดีกว่า ทำให้คุณภาพสูงกว่า เราถึงจะสามารถสู้กับต่างประเทศได้”

การเลี้ยงโคนมอินทรีย์ คือกุญแจสำคัญที่ชายผู้นี้เชื่อมั่นอย่างเต็มร้อยว่า จะสามารถทำให้เขาแข่งขันและอยู่ได้ในอาชีพที่เขารักอย่างยั่งยืน

“การปรับมาเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ ไม่ว่าต้นทุนการผลิตของเราจะเป็นเท่าไร จะทำให้คุณภาพน้ำนมของเราดีพอที่ไม่ต้องไปแย่งตลาดกับเขา นั่นหมายความว่า แม้จะผลิตออกมาในราคาต้นทุนที่แพงกว่าเขาบ้าง แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงเหล่านี้อยู่” คุณพฤฒิ กล่าว

 

ทำต้นทุนลด กำไรเพิ่ม

“แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมกลับพบว่า เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ ต้นทุนในการผลิตไม่ได้โดดขึ้นไป ต้นทุนเราต่ำลงไปอีก และที่สำคัญคือ คุณภาพของน้ำนมดีกว่าด้วย สาเหตุเพราะการปรับเปลี่ยนมาสู่โคนมอินทรีย์เป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องปรับไปสู่การเลี้ยงขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ เช่น การฟื้นฟูแปลงหญ้าของตนเอง ปลูกหญ้าให้มีคุณภาพดีขึ้น การเลี้ยงที่ไม่ใช้สารเคมีต่างๆ เป็นต้น”

“หลักการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ที่สำคัญประการหนึ่งของเราคือ การไม่เร่งรัดให้แม่โคนมให้น้ำนมได้สูงๆ คือให้ได้ปริมาณน้ำนมตามศักยภาพของแม่โคนมตัวนั้นๆ โดยกินอาหารแบบธรรมชาติที่สุด หมายถึง ให้กินหญ้าจากที่ปลูกอยู่ในฟาร์ม และเสริมอาหารข้นในปริมาณน้อย พอทำแบบนี้น้ำนมที่ได้ก็ไม่เหมือนเดิม โดยจากเดิมแม่โคนมอาจให้น้ำนมถึง 20 กว่ากิโลกรัม แต่พอเปลี่ยนวิธีเลี้ยง จะให้น้ำนมเพียง 10-12 กิโลกรัม แต่ในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ มีกำไรเพิ่มมากขึ้น เพิ่มจากตรงไหน ก็ตรงที่ต้นทุนที่ลดลง เพราะเกษตรกรไม่ต้องเสียเงินซื้ออะไรเลย มาใช้เลี้ยงเหมือนแต่ก่อน”

แต่แนวคิดนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดและทำเฉพาะที่แดรี่โฮม คุณพฤฒิยังได้ขยายแนวคิดออกไปสู่วงกว้าง จนกลายมาเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมแดรี่โฮม ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อผลิตนมอินทรีย์คุณภาพ ในปี 2550 และปัจจุบันสามารถขยายออกไปจนมีสมาชิกของกลุ่มถึง 11 ฟาร์ม จำนวนโคนม 500 กว่าตัว 

“ปัจจุบัน น้ำนมอินทรีย์ของแดรี่โฮมทั้งหมดมาจากฟาร์มสมาชิกทั้งหมด โดยวันหนึ่งจะมีน้ำนมถูกส่งเข้ามา ประมาณ 3,000 กว่ากิโลกรัม”

ดังนั้น ในแต่ละวัน น้ำนมอินทรีย์จากฟาร์มเครือข่ายสมาชิกจะถูกส่งมาที่แดรี่โฮม เพื่อผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งร้านอาหารของแดรี่โฮมเอง และห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงร้านอาหารสุขภาพในจังหวัดต่างๆ

“น้ำนมอินทรีย์ที่สมาชิกของเรานำมาส่ง จะได้ราคาเพิ่มจากราคาน้ำนมที่ซื้อขายกันปกติอีก กิโลกรัมละ 6 บาท” คุณพฤฒิกล่าวและว่า

“แต่ปริมาณน้ำนมอินทรีย์ที่ผลิตได้ในทุกวันนี้ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งหากมีน้ำนมเยอะกว่าอีก ก็ยังได้ขายอีก”

 

ตัวอย่างวิถีที่เป็นไปในการเลี้ยง

จากคำบอกเล่าของเจ้าของแดรี่โฮม ชี้ให้เห็นถึงชีวิตของแม่โคนมในระบบโคนมอินทรีย์นั้น จะแตกต่างจากการเลี้ยงโคนมโดยทั่วไป อย่างในเรื่องการให้อาหาร จะไม่เน้นการให้อาหารมากเกินไป แม่โคจะมีความสุขจากการได้เดินแทะเล็มหญ้าในแปลง อาหารข้นที่เสริมในแต่ละวันจะให้ในปริมาณไม่มาก และที่สำคัญวัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องไม่เป็นส่วนผสมที่มาจากพืชและสัตว์ที่ได้จากกระบวนการตัดพันธุกรรม หรือ GMO

“ส่วนเรื่องสุขภาพ ด้วยการเลี้ยงในระบบนี้ จะทำให้แม่โคมีสุขภาพดีและแข็งแรง การใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ ที่ใช้รักษาโรค อย่าง โรคเต้านมอักเสบ โรคขาแข็ง จึงหมดไป แต่หากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ จะเน้นการใช้วิธีธรรมชาติในการรักษาก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากไม่หายและจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ แม่โคตัวนั้นจะถูกแยกออกไปจากฝูงรีดนม เมื่อหายจึงจะนำกลับเข้ามารีดนมอีกครั้ง”

“หรืออย่าง โรคเต้านมอักเสบ ในฟาร์มโดยทั่วไปนั้น นิยมใช้ยาปฏิชีวนะรักษากัน แต่ที่ในระบบการเลี้ยงของเราจะแนะนำใช้หลักของการจัดการเข้ามาช่วยรักษา โดยในแม่โคที่ป่วยเป็นโรคนี้ เราจะใช้วิธีการที่ง่ายสุดคือ ขยันรีดนมบ่อยๆ เราจะรู้ว่าเกิดอาการเต้านมอักเสบ วันละ 3-4 หน เท่านี้ก็เป็นการลดปริมาณเชื้อที่มีอยู่ และเป็นการทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ถ้าเป็นเชื้อที่ไม่ร้ายแรงก็หายได้ แต่ถ้าเป็นเชื้อที่ร้ายแรง ก็สามารถใช้สมุนไพรได้ เช่น เอาหญ้างวงช้างมาต้มให้กิน หรือต้นสาบเสือ ซึ่งมีฤทธิ์ทางแก้อักเสบอยู่แล้ว เอาน้ำคั้นมาใช้ได้ ก็สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงไปได้” คุณพฤฒิ กล่าว

คุณพฤฒิ ยกตัวอย่างต่อไปว่า หรือเรื่องของยากำจัดเห็บ ยากำจัดแมลง ที่มีใช้กันในฟาร์ม ของเราจะไม่ใช้สารเคมี แต่จะใช้สมุนไพรแทน โดยสามารถที่จะนำสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงๆ อย่าง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เป็นต้น นำมาหมักเป็นน้ำสมุนไพรชีวภาพไปฉีดพ่นบนตัวโคนมแทนสารเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้ตัวแมลงตายได้ทันที แต่ว่าลดปริมาณลง นอกจากนี้ ก็จะเสริมด้วยวิธีกล โดยการเลี้ยงไก่ควบคู่ไปด้วย โดยมีโคนม 20 ตัว เลี้ยงไก่ด้วยสัก 100 ตัว รับรอง เห็บ ไข่หนอน แมลงวัน ไม่พอกิน และไก่ก็ขายเป็นรายได้เสริมให้กับฟาร์มได้อีกด้วย” คุณพฤฒิ กล่าว

 

“แต่อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็นโคนมอินทรีย์ได้นั้น ยาก ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องของการตรวจรับรองว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนด โดยคณะกรรมการด้านปศุสัตว์อินทรีย์ของกรมปศุสัตว์เท่านั้น ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองด้วย ไม่ว่า รายได้ในช่วงแรกที่ลดลง การทำงานที่ต้องขยันมากขึ้นกว่าเดิม ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็นโคนมอินทรีย์ แต่ที่ผมทำทุกวันนี้ต้องการทำให้เกษตรกรได้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนเป็นโคนมอินทรีย์นั้น แม้จะยาก แต่ก็ทำได้ ซึ่งผมนั้นอยากเห็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็นอินทรีย์กันทั้งประเทศ” คุณพฤฒิ กล่าวในที่สุด


  • IMG_0404.JPG
    การทำนมอินทรีย์ 1. การใช้สารสกัดจากพืชในการกำจัดเห็บ การศึกษาการใช้สารสกัดจากใบและลำต้นของพืชมีพิษชนิดในตระกูล Pokeweed (Petiveria alliacea) (Phytolaccaceae) ในการกำจัดเห็บวัว โดยส...

  • IMG_0379.JPG (2).JPG
    วิจัยการผลิตน้ำนมอินทรีย์ เพิ่มขีดการแข่งขันทางการค้าแปลงหญ้าสำหรับเลี้ยงโคปัจจุบันหลายประเทศต่างเริ่มหันมามุ่งผลิตสินค้าปศุสัตว์ในระบบ "อินทรีย์" กันมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กั...

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 119,577