การจัดการฟาร์มโคเนื้อ

การจัดการฟาร์มโคเนื้อ

เอกชัย บุญจันทร์

จากอดีตถึงปัจจุบัน

ในอดีตเกษตรกรบ้านเรานอกจากจะทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวตามประสาชาวชนบทที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย คอยช่วยเหลือออกแรงลงแขกกันตามโอกาสต่างๆ แล้ว แต่ละบ้านก็ยังมีการเลี้ยงโค - กระบือไว้ใต้ถุนบ้านหรือผูกไว้ตามหัวไร่ปลายนากันแทบทุกบ้านก็ว่าได้ โดยอาศัยประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งไถนา นวดข้าว เทียมเกวียน คอยกำจัดวัชพืชตามหัวคันนา ทำเป็นอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อตามงานเทศกาลต่างๆ หรือเก็บไว้เป็นเงินออมที่มีชีวิตยามฉุกเฉิน

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วผลพลอยได้อีกทางหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนหญ้าฟางที่กินเข้าไปให้กลายมาเป็นเนื้อได้อย่างน่าอัศจรรย์โดยไม่มีต้นทุนใดมาเกี่ยวข้องเลย และมูลโคที่ถ่ายลงตามท้องนาก็จะกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีช่วยบำรุงดิน ทำให้ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์และลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 วัน โคตัวหนึ่งจะถ่ายมูลเฉลี่ยประมาณ 15 กิโลกรัม หรือใน 1 ปี เราจะได้มูลโคถึง 5.4 ตันกว่าๆ เชียวนะครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ปุ๋ยมูลโคนั้นเป็นที่นิยมของตลาดและมีราคาดีทีเดียว อีกทั้งยังใช้ทาลานนวดข้าว ทากระพ้อมใส่ข้าวเปลือก หรือใช้ทำแก๊สชีวภาพหุงต้มภายในครัวเรือนได้อีก เห็นไหมครับว่าการเลี้ยงโค - กระบือนั้นมีประโยชน์มากมายขนาดไหน นับว่าโค - กระบือนั้นมีบุญคุณและเปรียบเสมือนเป็นดั่งกระดูกสันหลังให้กับชาวนามาช้านาน

1 วัวนวดข้าว สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.jpg 2 gotoknow.JPG

เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนผู้เขียนมักจะมีโอกาสได้ติดตามบิดาไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ สิ่งที่เห็นจนชินตาจากสองข้างทางตลอดการเดินทางที่ดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ คือ ฝูงโค - กระบือที่กำลังก้มหนาก้มตากินฟางข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวทอดยาวสุดลูกหูลูกตาอย่างมีความสุข โดยอาศัยการจัดการที่เรียบง่ายตามแบบฉบับภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้แรงงานภายในครอบครัว ไม่มุ่งหวังผลกำไรมากเกินไป แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้เลี้ยงปล่อยทุ่งมีจำนวนลดลง เนื่องจากพืชไร่และพืชพลังงานมีราคาสูง เกษตรกรจึงเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นการทำไร่ การเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักรกลรถไถ ทำให้ความต้องการใช้แรงงานโค - กระบือลดลงตามลำดับ ขับรถไปนานๆ กว่าจะพบฝูงโค - กระบือสักฝูงสองฝูงก็หาดูยากเหลือเกิน แต่ในความเป็นจริงนั้นความต้องการเนื้อเพื่อบริโภคกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง พอจำนวนโค - กระบือเริ่มลดลงเรื่อยๆ ราคาของโค - กระบือมีชีวิตก็เริ่มมีราคาสูงขึ้นตามหลักปริมาณสินค้ากับความต้องการของผู้บริโภค จนเกษตรกรหลายรายเริ่มหันกลับมาเลี้ยงกันอีกครั้ง

ปัจจุบันรูปแบบวิธีการเลี้ยงและจุดประสงค์ในการเลี้ยงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีการเพิ่มการจัดการฟาร์ม การปรับปรุงพันธุ์เข้ามาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงดู ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งด้านที่ดิน แรงงาน อาหาร และเงินทุน ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอข้อมูลเกร็ดความรู้และการจัดการฟาร์มโคเนื้อเบื้องต้น เพื่อที่พี่น้องชาวโคบาลจะสามารถนำไปจัดการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการกอปรกับคำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุดตามประสาคนเลี้ยงวัวครับ

รูปแบบของการเลี้ยงโคเนื้อในปัจจุบัน

การเลี้ยงโคในต่างประเทศนั้นได้พัฒนาล้ำหน้าบ้านเราไปมากแล้ว ทั้งด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ วิทยาการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเนื้อที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก ด้วยข้อได้เปรียบทางด้านพื้นที่ในการเลี้ยงที่มีอยู่อย่างมหาศาล ทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำและได้ผลตอบแทนสูง ตรงกันข้ามกับบ้านเราที่มีพื้นที่ในการเลี้ยงที่จำกัดและวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ที่หายากและมีราคาสูงขึ้นทุกวัน เกษตรอย่างเราๆ ก็ควรเลือกรูปแบบและวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับกำลังความสามรถของตนเองเป็นสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน โดยจะแบ่งรูปแบบการเลี้ยงโคตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ดังนี้

1. ผู้เลี้ยงโคพ่อ - แม่พันธุ์

- ในสมัยนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่มากมายเหมือนในอดีต ต้นทุนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการฟาร์ม ทั้งด้านอาหาร แปลงหญ้า สุขภาพสัตว์ และจุดมุ่งหมายในการเลี้ยงเป็นหลัก การเลี้ยงต้องใช้ระยะเวลา 2-5 ปี (เงินเย็น) ถึงจะคืนทุน โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ

1.1 ผู้เลี้ยงโคพันธุ์แท้คุณภาพดี

- ส่วนใหญ่จะเลี้ยงพันธุ์แท้หรือสายประกวดเป็นหลัก โดยเน้นหนักไปที่ฝูงแม่พันธุ์อาจจะมี 10 - 20 ตัว น้อยหรือมากกว่านั้นก็ได้แล้วใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ชั้นดีมาผสมเทียม เพื่อผลิตลูกโคพันธุ์แท้ออกสู่ตลาด บางทีอาจจะเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้สำหรับขึ้นผสมจริงหรือผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อจำหน่ายด้วยก็ได้ ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีเงินทุนพอสมควรเพราะว่าโคในกลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างแพง เพื่อความสบายใจและป้องกันการถูกย้อมวัวขาย ในการซื้อ – ขายทุกครั้งควรขอใบผสมเทียมหรือใบพันธุ์ประวัติที่มีหน่วยงานรัฐหรือสมาคมของโคพันธุ์นั้นๆ รับรองมาด้วยเสมอ

dldgothc.jpg

1.2 ผู้เลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมทั่วไป

- ส่วนใหญ่จะเป็นแม่พันธุ์ลูกผสมบราห์มัน, ลูกผสมฮินดูบราซิล หรือลูกผสมยุโรป โดยจะเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งหญ้าธรรมชาติผูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรือขังคอกแล้วตัดหญ้ามาให้กินก็ได้ บ้างก็เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก บ้างก็เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม มักจะใช้วิธีผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อตามกระแสความนิยมของตลาด ณ ขณะนั้น บางฟาร์มก็ใช้พ่อคุมฝูงเพื่อลดปัญหาการจับสัดที่ไม่แน่นอน ลูกโคที่ผลิตได้จะขายตีเป็นราคาเนื้อตามกลไกตลาด หรือปรับปรุงพันธุ์ยกระดับสายเลือดให้สูงขึ้นแล้วขายในราคาโคพันธุ์ ลูกค้าส่วนใหญ่คือ ผู้ที่นำไปต่อยอดขยายพันธุ์และผู้เลี้ยงโคขุน

thailivestock.jpg

2. ผู้เลี้ยงโคขุน

- สามารถทำเป็นอาชีพหลักและใช้พื้นที่ในการเลี้ยงที่จำกัดได้ ต้นทุน – กำไรจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกโค + ราคาโคเข้าขุนและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แปรผันตามฤดูกาล เพราะต้องใช้อาหารข้นคุณภาพดีเพื่อสร้างกล้ามเนื้อและทำน้ำหนักตัวให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ระยะเวลาในการเลี้ยงขึ้นอยู่กับคุณภาพของตลาดที่จะจำหน่าย มีค่าใช้จ่าย - รายได้หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา (เงินร้อน) โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ

2.1 ผู้เลี้ยงโคขุนคุณภาพ

- ผู้เลี้ยงจะต้องคัดเลือกโคเข้าขุนโดยให้มีสายเลือดของโคยุโรปไม่ต่ำกว่า 50% ฟันแท้ยังไม่ขึ้นหรือขึ้นไม่เกิน 1 คู่ ใช้ระยะเวลาในการขุนประมาณ 8 - 12 เดือน น้ำหนักสุดท้ายไม่ต่ำกว่า 500-550 กิโลกรัม การขุนวัวที่มีอายุน้อยจะได้เนื้อที่มีความนุ่มมากกว่าการขุนวัวที่มีอายุมาก และระยะเวลาการขุนที่นานก็จะช่วยเพิ่มไขมันแทรกในกล้ามเนื้อให้มีมากขึ้น เพราะว่าไขมันแทรกยิ่งมากราคาก็จะดีตามไปด้วย แต่ในกลุ่มผู้บริโภคเนื้อเพื่อสุขภาพจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องไขมันแทรกมากนัก เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงโคเลสเตอรอลในไขมันซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ โคกลุ่มนี้จะถูกเลี้ยงด้วยอาหารข้นคุณภาพดี ปลอดสารเคมี ชำแหละแปรรูปตามมาตรฐานสากล มีตลาดรองรับและรับประกันราคาที่แน่นอน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ก่อนจะทำการขุนผู้เลี้ยงจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์โคเนื้อดังกล่าว เพื่อขอคิวลงทะเบียนขุนซึ่งหน่วยงานที่รองรับ ได้แก่ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด จ.สกลนคร (Thai - French), สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม (KU Beef), สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จ.มุกดาหาร เป็นต้น เนื้อที่ได้จะจำหน่ายเฉพาะตลาดบนเท่านั้น คือ ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร โรงแรม ฯลฯ

2.2 ผู้เลี้ยงโคขุนทั่วไป

- โคที่เข้าขุนจะไม่จำกัดอายุและสายพันธุ์ มีทั้งลูกผสมบราห์มัน ลูกผสมฮินดูบราซิล ลูกผสมยุโรป และพื้นเมืองบ้างเล็กน้อย มีอายุตั้งแต่หย่านมขึ้นไปจนถึงโคอายุมากหรือโคงานที่ปลดระวาง (โคมัน) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามตลาดนัดโค - กระบือทั่วไป ใช้ระยะเวลาในการขุน 3 - 4 เดือน น้ำหนักสุดท้ายจะอยู่ที่ 350 – 450 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสภาพและชนิดของโคที่นำมาขุน เลี้ยงด้วยอาหารข้นและอาหารหยาบที่หาได้ในพื้นที่ ถ้าโคที่นำมาขุนมีเนื้อเต็มโครงร่างเมื่อไหร่ก็ส่งเข้าโรงเชือดทันทีโดยไม่จำกัดขนาด ส่วนใหญ่จะถูกชำและในรูปของเนื้อเซาะ(เลาะเอาแต่เนื้อแดง) หรือเนื้อผ่าซีกให้ครบตามปริมาณคำสั่งซื้อในแต่ละวัน เนื้อที่ได้จะจำหน่ายตลาดกลางและตลาดล่าง คือ ตลาดเทศบาล ตลาดสด และตลาดนัดทั่วไป

3. ผู้เลี้ยงโคพ่อ - แม่พันธุ์และโคขุน

- ผู้เลี้ยงกลุ่มนี้จะใช้ระบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยใช้กำไรส่วนหนึ่งจากการเลี้ยงโคขุนมาจุนเจือโคพันธุ์ในระหว่างที่รอโคพันธุ์คืนทุน โคขุนส่วนหนึ่งก็จะคัดมาจากโคพันธุ์หรือโคเพศผู้หย่านมที่มีลักษณะไม่ตรงกับความต้องการ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการซื้อโคเข้าขุนได้อีกทางหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นฟาร์มแบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก – กลาง - ใหญ่ก็ได้ ยกตัวอย่างฟาร์มขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ลุงเชาวน์ฟาร์ม จ.สุพรรณบุรี, ห้างฉัตรแรนช์ จ.ลำปาง, ฟาร์มชวนชื่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

ระบบอุตสาหกรรมโคเนื้อในปัจจุบัน

วงจรการผลิตโคเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเนื้อในปัจจุบันนั้นมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน อาจจะด้วยเรื่องของพื้นที่ เงินทุน เวลา หรือความถนัดของแต่ละบุคคลก็สุดแท้แต่เหตุผล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ต้นน้ำ - จะเลี้ยงเพื่อผลิตลูกโคจำหน่าย โดยจะจำหน่ายลูกโคที่มีอายุตั้งแต่หย่านม - 1 ปี ขึ้นไป และแม่พันธุ์บางส่วน ลูกค้าในกลุ่มนี้คือ ผู้นำไปขยายพันธุ์, ผู้เลี้ยงโคขุน และพ่อค้าคนกลาง ( นายฮ้อย )

2. กลางน้ำ - จะซื้อโคจากกลุ่มต้นน้ำหรือจากพ่อค้าคนกลาง ( นายฮ้อย ) นำมาขุนต่อให้ได้น้ำหนักตามระยะเวลาที่กำหนด ลูกค้าในกลุ่มนี้คือ โรงเชือดต่างๆ

3. ปลายน้ำ - จะนำโคที่ขุนเสร็จแล้วจากกลุ่มกลางน้ำและโคปลดระวางหรือคัดทิ้งจากกลุ่มต้นน้ำ มาเชือดและชำแหละให้ครบจำนวนตามคำสั่งซื้อในแต่ละวัน โดยจะเชือดวันต่อวันเพื่อความสดใหม่ของเนื้อ ลูกค้าในกลุ่มนี้คือ ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหาร ตลาดสด ตลาดนัดทั่วไป

ตอนนี้เราพอจะทราบถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงโคเนื้อในบ้านเรากันบ้างแล้ว หลายท่านอาจจะเริ่มเห็นภาพรวมสามารถตอบโจทย์ตนเองได้บ้างแล้วว่า ขณะนี้เราอยู่ตรงจุดไหนของธุรกิจการเลี้ยงโค เพื่อที่จะได้ก้าวย่างอย่างมั่นคงบนถนนสายนี้ ไม่ว่าจะเป็นมือเก่าหรือมือใหม่ถ้าเริ่มต้นได้ดีก็มีกำไรไปกว่าครึ่งแล้วครับ

ฉบับหน้ามีอะไรใหม่ มาร่วมติดตามกันนะครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้วขอลาไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้า โชคดีมีความสุขกับการเลี้ยงวัวทุกท่าน สวัสดีครับ

 

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ใน วารสารทำเนียบวัวงาม เดือนพฤษภาคม 2554


  • บริษัท กู๊ดวันฟีด จำกัด ป้านโฆษา.jpg
    การเลี้ยงโคนมในเขตร้อน การเลี้ยงโคนมในเขตร้อนหรือว่าในช่วงฤดูร้อนนั้น มีเคล็ดลับอย่างไรที่จะทำให้แม่โคนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่โคนมที่มีน้ำนมมากๆ ยังคงให้น้ำนมในปริมาณเท่าเดิมและจะ...

  • บริษัท กู๊ดวันฟีด จำกัด ป้านโฆษา.jpg
    เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของวัตถุดิบ วัตถุดิบ พลังงานในหมู Kcal/kg พลังงานในสัตว์ปีก Kcal/Kg โปรตีน % ไขมัน % แคลเซียม % ฟอสฟอรัส % เยื่อใย % เถ้า % ...

  • บริษัท กู๊ดวันฟีด จำกัด ป้านโฆษา.jpg
    ราคาสินค้าเกษตร - ปลาช่อน ไชส์ใหญ์ จำเริญซื้อปลา จ.นครสรรค์ 120 บ./กก. - ปลานิล ไซส์ใหญ์ แพปลาสมพร จ.ปทุมธานี 44 บ./กก. - ถั่งเหลือง แกะเมล็ค คละเกรด หจก.น่านพืชผล จ.น่าน 20 ...

  • มาตรฐานการทำฟาร์มโคนม
    มาตรฐานการทำฟาร์มโคนม มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบนี้ กำหนดเป็นมาตรฐานเพื่อให้ฟาร์มโคนมที่ต้องการขึ้นทะเบียน รับรองว่าเป็นฟาร์ม โคนมที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้ยึดถือเป็นแน...
Visitors: 119,384