ข้อควรพิจารณาในการจัดการให้อาหารโคนม

ข้อควรพิจารณาในการจัดการให้อาหารโคนม
 

ข้อควรพิจารณาในการจัดการให้อาหารโคนม

                  

                   การเลี้ยงโคนมให้ประสบผลสำเร็จเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องเอาใจใส่ดูแลโคของตนอย่างใกล้ชิด ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญค่อนข้างมากเกี่ยวกับการจัดการ การให้อาหารโคนม เพื่อจะให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการให้อาหารตามสภาวะของอาหารและความต้องการของโคที่มีในขณะนั้น โดยที่โคนมยังให้ผลผลิตได้เต็มที่ อาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงโคนม ผู้เลี้ยงโคนมมักจะพบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารสัตว์ ขาดความรู้ในการให้อาหารโคนม ทำให้โคนมให้ผลผลิตต่ำ และเกิดปัญหาหลายอย่างตามมาเกี่ยวกับสุขภาพโคเช่น การเป็นสัดล่าช้า การผสมไม่ติด ปัญหาลูกโคแคระแกรน เป็นต้น   ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ดังนั้น ข้อที่ควรพิจารณาในการจัดการและการให้อาหารโคนมดังนี้

1.       การจัดการฟาร์มโคนม

2.       การให้อาหารโคนม

 

การจัดการฟาร์มโคนม

                   ในการบริหารผู้จัดการกิจการใด ๆ ต้องเข้าใจถึงกระบวนการหรือขั้นตอนของกิจการนั้นเป็นอย่างดี อย่ามุ่งแต่ประหยัดหรือทำกำไรให้มาก ๆ ไม่แน่ว่ากิจการนั้น ๆ จะสำเร็จเสมอไป ผลที่ตามมาส่วนมากมักจะล้มเหลวมากกว่า ทำนองเดียวกับการเลี้ยงโคนม ถ้ามุ่งแต่จะเพิ่มผลผลิตโดยการลดต้นทุนค่าอาหารให้ต่ำที่สุด ไม่คำนึงถึงตัวสัตว์และผลที่ตามมาจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น การลดต้นทุนอาหารข้น หรือซื้ออาหารข้นราคาถูกมาเลี้ยงโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพทางโภชนะของอาหาร ความต้องการอาหารของโคนมและคุณภาพของอาหารหยาบแล้ว โคนมที่ปรับปรุงพันธุ์มาดีให้นมสูง ๆ ก็จะให้นมต่ำลงไม่ได้เท่าพันธุกรรม แม่โคจะซูบผอม ผลตามมาคือ โคเป็นสัดช้าและผสมติดยาก โคอาจจะตายได้จากสภาพผสมผสานของความเสียหายจากระบบการย่อยอาหารผิดปกติและสภาวะการขาดสารอาหาร สิ่งที่ผู้จัดการควรทำความเข้าใจเบื้องต้น คือ

1.       ตัวโค อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าโคที่เลี้ยงอยู่นั้นให้นมโดยเฉลี่ยวันละเท่าไร น้ำนมที่แม่โคผลิตออกมาทุกหยดมาจากไหนแน่นอนต้องมาจากอาหาร โดยมีเต้านมทำหน้าที่เป็นโรงงานเปลี่ยนอาหารหรือโภชนะที่ถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดให้เป็นน้ำนม ฉะนั้นถ้าแม่โคมีพันธุกรรมให้นมได้สูง ความต้องการอาหาร เช่น โปรตีน พลังงาน แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ ย่อมมีความต้องการสูงตามไปด้วย ถ้าโคได้รับโภชนะในแต่ละวันไม่พอกับความต้องการของเต้านมในการผลิตน้ำนม โคจะดึงอาหารที่สะสมไว้ในร่างกายโดยเฉพาะไขมันออกมาช่วยในการสร้างนม โคก็จะผอมลงหลังคลอด นั่นคือสัญญาณบ่งชี้ว่า โคได้รับโภชนะในแต่ละวันไม่พอ ถ้าเหตุการณ์ดำเนินติดต่อไปเรื่อย ๆ ผลที่เกิดขึ้น คือ การให้นมของโคตัวนั้นจะให้นมน้อยลงกว่าความสามารถที่จะให้ โคจะผอมมาก ๆ ขึ้น เป็นสัตว์หลังคลอดจะเกิดช้า หรือไม่เกิด และถ้าเกิดอาจผสมติดยาก

2.       กำหนดแผนการให้อาหารตลอดทั้งปี คือการควบคุมวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องมีปริมาณและคุณภาพให้สม่ำเสมอโดยตลอดทั้งปี และจำเป็นต้องควบคุมให้ดำเนินไปด้วยดีสม่ำเสมอ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดผลเสียตามมาทันที ส่งผลให้โคหมดสภาพและเป็นการยากที่จะแก้ไข ตรงนี้ถ้าผู้จัดการมีความรู้ด้านอาหารสัตว์สามารถผสมผสานปรับเปลี่ยนวิธีการให้อาหารก็จะสามารถแก้ปัญหาไปได้ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก

3.       การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โคนมต้องมีการคัดทิ้งโคที่ให้นมน้อย เปลี่ยน หรือหาซื้อโคที่ให้นมดีมาเข้าฝูง เลี้ยงโคที่ให้นมมากน้อยตัว จะดีกว่าการเลี้ยงแม่โคที่ให้นมน้อยไว้หลาย ๆ ตัว ซึ่งจะไม่สามารถจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตได้เลย

4.       ปัจจัยภายนอก เช่น โรคพยาธิ โรคเต้านมอักเสบ ต้องรีบแก้ไขทันทีที่พบ อย่าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้สูญเสียมากขึ้น

ถ้าผู้จัดการหรือผู้เลี้ยงโคได้เข้าใจพื้นฐานตรงนี้ก็จะสามารถจัดการให้ระบบต่างๆ ดำเนินไปด้วยดีและผู้เลี้ยงต้องไม่ลืมว่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำนมของโคแต่ละตัว จะมีความสัมพันธ์กับผลผลิตน้ำนมที่ให้เสมอ ถ้าโคให้นม/วันมากขึ้น ต้นทุนค่าอาหารต่อหน่วยของน้ำนมก็จะยิ่งถูกลงเช่นกัน

 

การให้อาหารโคนม

                   ในการให้อาหารโคนม ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจถึงความต้องการอาหารของโคนมเสียก่อน โคนมต้องการอาหารไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากการให้นม ความต้องการโภชนะของโคนมสามารถจะแบ่งออกได้ตามหน้าที่ที่ใช้ประโยชน์ในร่างกาย คือ ใช้โภชนะเพื่อการดำรงชีพ ใช้โภชนะเพื่อการเจริญเติบโต ใช้โภชนะเพื่อการสืบพันธุ์ ใช้โภชนะเพื่อการเคลื่อนไหว โภชนะต่าง ๆ ที่โคต้องการได้มาจากอาหารโคนม แบ่งออกได้ เป็น 2 ชนิด คือ

1.       อาหารหยาบ มีเยื่อใยสูง คุณค่าทางอาหารของอาหารจะเปลี่ยนแปรไปตามฤดูกาล สภาพดิน และชนิดของอาหารหยาบนั้น แต่โดยทั่วไปคุณค่าทางอาหารจะค่อนข้างต่ำผู้เลี้ยงต้องตระหนักในเรื่องนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะโคนมที่กำลังให้นม ถ้าได้กินอาหารหยาบไม่พอจะทำให้ปริมาณกรดอะซิติคที่ผลิตได้ต่ำและมีผลทำให้ไขมันในน้ำนมลดต่ำไปด้วย เพื่อทำให้ขบวนการย่อยอาหารและการผลิตไขมันในน้ำนมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาหารหยาบที่ให้ไม่ควรจะต่ำกว่า 1-1.5% ของน้ำหนักตัว หรือมี ADF ไม่ต่ำกว่า 19-21% หรือ CF ไม่ต่ำกว่า 18%

 

คุณภาพของอาหารหยาบเป็นเรื่องสำคัญ

                   หลักในการให้อาหารที่ดีแก่แม่โค คือให้มันได้รับอาหารหยาบที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะธรรมชาติของแม่โคเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเกิดมาเพื่อกินหญ้า พืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามแม่โคที่ให้นมตามปกติถึงจะให้มันกินอาหารหญ้าอย่างดีเต็มที่ ก็นับว่ายังไม่พอ ควรจะต้องเสริมอาหารข้นให้มันกินบ้างยิ่งในแม่โคที่ให้นมมาก ๆ ถึงแม้จะให้หญ้าดีและมีอาหารข้นให้กินเต็มที่ บางทีก็ยังไม่พอโดยเฉพาะในช่วงต้นของการให้นม ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวลดลง ดังนั้นการเสริมอาหารข้นให้มันกินจะต้องพิจารณาถึงระดับการผลิตและสุขภาพของร่างกายของมันด้วย

                   หญ้าที่จะตัดให้กิน หรือจะปล่อยให้สัตว์ลงแทะเล็มควรจะอยู่ในระยะที่มันกำลังเจริญงอกงามเต็มที่แต่ยังไม่ถึงระยะแก่ เพราะว่า หญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ที่ยังไม่แก่จะให้ประโยชน์หลายประการกล่าวคือ

1.       มีส่วนประกอบของโปรตีนและพลังงานสูงกว่า

2.       สัตว์ชอบกินและกินได้มากกว่า

3.       สามารถย่อยได้ง่ายและมีการย่อยได้สูง

4.       เป็นช่วงที่ให้ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์สูงที่สุด

5.       ช่วยนำไปใช้สร้างน้ำนมได้อย่างมากและเป็นการช่วยลดอัตราการเสริมอาหารข้นลง

6.       ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มกำไร

เมื่อคุณภาพของหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ที่แม่โคได้รับมีคุณภาพต่ำลง ก็จะทำให้แม่โคกินน้อยลง การย่อยได้ของพืชน้อยลง โภชนะที่แม่โคจะได้รับก็จะยิ่งน้อยลงไป การให้นมก็จะลดลง

2.       อาหารข้น เป็นอาหารที่มีความเข้มข้นของโภชนะสูง อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

2.1     อาหารพลังงาน จะให้พลังงานสูง เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด มันเส้น รำ เป็นต้น

2.2     อาหารโปรตีน จะให้โปรตีนสูง เช่น กากถั่วเหลือง ปลาป่น ใบกระถิน ใบมันสำปะหลังแห้ง กากฝ้าย เป็นต้น

อาหารข้นมีความสำคัญต่อโคมาก เช่นเดียวกับอาหารหยาบเพราะโคกินอาหารหยาบอย่างเดียวจะโตช้าให้นมน้อย ต้องเสริมด้วยอาหารข้น การใช้อาหารข้นเสริมต้องคำนึงถึงคุณค่าของอาหารหยาบ ปริมาณการใช้อาหารข้นตามสภาพร่างกาย น้ำหนักและปริมาณการให้ผลผลิต โดยผู้ให้ต้องสังเกตถึงระดับอาหารที่ให้กับปริมาณการตอบสนองของการให้นม พื้นฐานในการพิจารณาการให้อาหารต้องดูที่ผลตอบแทนแต่ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งและแต่ละสถานการณ์ ซึ่งผู้เลี้ยงต้องปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละแห่ง

 

คำแนะนำในการให้อาหารโคนมในฤดูกาลต่าง ๆ

เกษตรกรควรดูรอบ ๆ ตัวเอง รอบ ๆ บ้าน รอบ ๆ สวน ว่าเรามีอาหารอะไรบ้างจะให้โคกินได้ อาหารต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบ ๆ บ้านนั้น จะเป็นแหล่งอาหารที่มีความสำคัญมาก และควรหันมาใช้อาหารที่มีอยู่ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งหญ้าและผลพลอยได้จากการเกษตร โดยมีรูปแบบการให้อาหารโคนมดังนี้

 

หน้าฝน

อาหารหยาบ       ใช้หญ้าในแปลงที่ปลูกไว้ หญ้าสวนครัว หญ้าพื้นเมือง

อาหารข้น          ตามความเหมาะสม

หน้าแล้ง

อาหารหยาบ       หญ้าที่พอหาได้แต่ถ้าขาดใช้ฟางหมักยูเรีย หรือวัสดุเหลือใช้และผลพลอยได้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เหมาะสม

อาหารข้น          ตามความเหมาะสม

 

หลักการให้อาหารแก่โคระยะให้นม

                   โดยทั่วไปเกษตรกรให้หญ้าและเสริมอาหารข้นอย่างพอเพียง จะทำให้โคสามารถผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงผลตอบแทนด้วย ขอเสนอหลักการให้อาหารโคระยะให้นมโดยดูระดับการให้นมของแม่โค ดังนี้

                   ช่วงที่ 1   3 เดือนแรกของการให้นม (โคให้นมมาก) ปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ต่อวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดสูงสุด เมื่อประมาณ 1.5-2 เดือน การให้อาหารข้นควรให้โดยเพิ่มขึ้นทุกวันในอัตราที่เพิ่ม ¾-1 กก./วัน จนกระทั่งให้ได้สูงสุดไม่เกิน 10-12 กก./วัน ควรแบ่งให้กิน 2-3 เวลา

                   ช่วงที่ 2 เป็นช่วงกลาง 4-5 เดือนของการให้นม โคจะให้นมลดลงการให้อาหารข้นควรปรับให้สัมพันธ์กับระดับการให้นม โดยพิจารณาเป็นรายตัว หรือจัดกลุ่มตามความสามารถในการผลิตนม ต้องมีการคำนวณอาหารหยาบที่จะให้กอ่นแล้วจึงคำนวณหาโภชนะที่ขาดจากอาหารข้น การกำหนดปริมาณอาหารข้นแต่ละวันควรปรับทุก ๆ เดือน

                   การให้อาหารโคนม ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรต้องคำนึงถึง

1.       ปริมาณการกินได้ที่แท้จริงของโค

2.       ชนิดและคุณภาพของโปรตีนในอาหารที่ให้

3.       ชนิดและคุณภาพ ของคาร์โบไฮเดรตที่โคกินได้

4.       ให้แร่ธาตุและวิตามินแก่โคตามความเหมาะของพื้นที่และวัตถุประสงค์

5.       พิจารณาการให้สารเสริมในโคที่ให้ผลผลิตสูง ๆ

ผู้เลี้ยงโคนมต้องไม่ยึดถือการให้อาหารเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ควรปรับการให้อาหารให้เหมาะสมตามสภาวะของการให้ผลผลิต สภาพของโค และอาหารสัตว์ในท้องถิ่น และการเปลี่ยนชนิดของการให้อาหารในโคนมโดยเฉพาะแม่โคนมบ่อยไม่เป็นผลดี

                   ช่วงที่ 3  1.5-2 เดือนสุดท้ายของการให้นม ช่วงนี้นมจะลดลงมากถ้าร่างกายสภาพสมบูรณ์ดี การให้อาหารดีและมากเกินความต้องการจะเป็นผลเสีย โคจะอ้วนและสิ้นเปลือง อาจจะลดอาหารข้นหรือหยุดให้กินให้แต่อาหารหยาบอย่างดีให้กินก็อาจจะพอเพียง

                    ช่วงที่ 4  ช่วงแห้งนม 2 เดือน แม่โคควรจะได้มีระยะพักประมาณ 2 เดือน ระหว่างนี้โคจะรักษาสภาพของร่างกายให้สมบูรณ์แต่ไม่อ้วน อาหารหยาบที่ให้อาจมีคุณภาพต่ำลงมาหน่อย และเสริมด้วยอาหารข้นในปริมาณแค่พอสำหรับดำรงสภาพของร่างกายให้สมบูรณ์ตามปกติเท่านั้นก็พอ ถ้าโคอ้วนมากมักจะมีประสิทธิภาพในการสืบพันธ์ไม่ดี และทำให้คลอดยาก แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนคลอด ต้องให้อาหารข้นเพิ่มวันละ½ กก. หรือไม่เกิน 1-1.5 กก./100 กก. ของน้ำหนักตัว เพื่อจะให้โคปรับระบบทางเดินอาหารให้คุ้นเคยกับการจะได้รับอาหารข้น ซึ่งโคต้องการมากขึ้นเมื่อคลอดและเริ่มให้นม จะทำให้โคให้นมเต็มที่ตามขีดความสามารถของมัน

 

รูปที่ 1       แสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำนมที่ผลิตได้ ระดับอาหารที่กิน น้ำหนักของแม่โคและลูกในท้องตลอดรอบของการให้นมและการตั้งท้อง                

 

คุณค่าทางโภชนะของอาหารหยาบบางชนิด (% ของวัตถุแห้ง)

 

วัสดุอาหาร

วัตถุแห้ง

โปรตีน

พลังงาน (TDN)

เยื่อใยหยาบ (CF)

เยื่อใย ADF

หญ้าขน

26.0

11.8

56.0

31.6

-

หญ้าเนเปียร์

22.0

9.5

55.0

30.8

-

หญ้ากินนี

38.2

9.3

52.0

32.7

44.1

หญ้าซิกแนล

36.3

9.5

-

-

40.1

หญ้ารูซี่

35.0

5.1

-

-

42.1

ถั่วชิราโต

32.0

15.2

-

-

55.2

ถั่วฮามาต้า

41.6

16.3

-

-

52.7

เปลือกและไหมข้าวโพดฝักอ่อน

18.0

12.6

69.9

21.0

27.3

ต้นข้าวโพด

22.8

9.1

60.3

30.4

38.2

ยอดอ้อย

31.0

6.4

52.0

33.9

-

ฟางแห้ง

90.0

3.8

47.0

32.8

50.8

ฟางหมักยูเรีย 5%

55.0

6.1

55.0

-

52.5

ซังข้าวโพด

90.5

1.7

48.0

-

49.7

 

ดัดแปลงจาก : ฉลอง (2530)Dearl (1982), Wanapat and Topark – Ngarm (1985)  Wanapat (1987)

 

ตัวอย่างสูตรอาหารโคกำลังรีดนม (น้ำหนักสด)

 

วัสดุอาหาร

สูตรอาหาร

 

1

2

3

4

5

6

มันเส้น

43.6

42.1

38.4

28.4

13.6

-

ข้าวโพดป่น*

-

-

15.5

28.7

48.9

61.5

รำอ่อน

-

-

-

14.7

14.6

14.7

ปลายข้าว

14.9

15.0

12.8

-

-

-

กากถั่วเหลือง**

-

-

30.6

25.4

20.1

-

ใบมันแห้ง

-

40.1

-

-

-

-

ใบกระถิน

38.8

-

-

-

-

22.0

ยูเรีย

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

กำมะถัน

0.04

0.04

0.04

0.04

0.04

0.04

ไดแคลเซียมฟอสเฟต

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

เกลือ

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

0.9

รวม

100.0

100.0

100.0

100.0

100.0

100.0

โปรตีน, %

16.0

15.0

20.0

19.0

18.0

17.0

พลังงาน, %TDN

77.6

68.4

80.0

78.7

78.8

76.7

 

* สามารถใช้ข้าวฟ่างทดแทนได้ทั้งหมด

* สามารถใช้กากเมล็ดฝ้ายหรือกากถั่วเหลือง ทดแทนได้ 50 % ของกากถั่วเหลืองในสูตรอาหารข้น

 

Last Updated on Thursday, 24 December 2009 09:28

  • การตรวจสุขภาพโคนมประจำปี
    การตรวจสุขภาพโคนมประจำปีโครีดนมทุกตัวจะต้องรับการตรวจวัณโรคและโรคบรูเซลโลซิส (แท้งติดต่อ) ทุกปี เพราะทั้งสองโรคนี้ติดต่อถึงคนได้ทางน้ำนม เกษตรกรที่ได้รับการนัดตรวจโรคจะต้องกักโคไว้...

  • วัคซีนโค
    วัคซีน คือสารที่ใช้กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยป้องกันโรคซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายหรือเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นได้ วัคซีนโคที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนบรูเซลโลซีส, วัคซี...

  • ประเภทของเวชภัณฑ์
    ประเภทของเวชภัณฑ์เวชภัณฑ์สำหรับโคนม ได้แก่ 1. ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ต่อต้านและทำลายจุลินทรีย์ ยาในกลุ่มนี้ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ เพนนิซิลลิน คลอแรมฟินิคอล ออกซี่เตตร้าไซคลิ...

  • ตู้ยาประจำคอกโคนม
    ตู้ยาประจำคอกโคนมโคนมเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเปราะ เพราะต้องสูญเสียสิ่งที่มีคุณค่าไปกับน้ำนมทุกวัน เกษตรกรจึงควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพของโคนมอย่างใกล้ชิดและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นควรรีบแก้ไข ซึ...

  • การใช้ปรอทวัดไข้
    การใช้ปรอทวัดไข้ปรอทวัดไข้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถหาและใช้ได้ ปรอทประกอบด้วยหลอดแก้ว 2 ชั้นรวมกันอยู่ ชั้นในบรรจุสารปรอทซึ่งมีคุณสมบัติขยาย...

  • เรื่องโรคในโคนม
    เรื่องโรคในโคนมโรค คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายสัตว์ไปจากปกติ เป็นผลให้เกิดอันตรายต่อตัวสัตว์ การเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทา งอวัยวะและหน้าที่ของอวัยวะด้วย เช่น พยาธิใบไม...

  • การเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ
    การเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจการวินิจฉัยโรคพยาธิเบื้องต้นที่นิยมกันทั่วไป และได้ผลดี คือ การตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระโคที่เก็บส่งห้องปฏิบัติการอย่างถูกวิธี คือ 1. ล้วงเก็บอุจจาระจากทวา...

  • การให้ยาโคนม
    การให้ยาโคนมเกษตรกรสามารถให้ยาแก่โคของตนเองได้ โดยมีหลักการดังนี้ 1. อยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ 2. ให้ยาในขนาดที่ถูกต้องและครบจำนวนไม่หกหล่นในระหว่างการให้ 3. ให้ยาถูกทาง เช่น...
Visitors: 119,331