ระเบียบมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบ

ระเบียบมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบ

ของประเทศไทย พ.ศ.2542

                       

                        ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบของประเทศไทย  พ.ศ.2542  ลงวันที่  3  เดือน  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2542  ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบของประเทศไทย  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพ  การอำนวยความสะดวกของการค้า  และการคุ้มครองผู้บริโภค  ในการนี้เพื่อให้เจ้าของฟาร์มโคนมและสัตวแพทย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยภายในฟาร์มโคนม  ได้ยึดถือปฏิบัติ   จึงจัดทำคู่มือนี้ขึ้น  เพื่อใช้เป็นแนวทางเดียวกัน  ทั้งการปฏิบัติและการควบคุมดูแลภายในฟาร์ม  องค์ประกอบของฟาร์ม  การจัดการฟาร์ม  การจัดการด้านสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม  การผลิต การเก็บรักษาและขนส่งน้ำนมดิบ   เพื่อให้ได้ฟาร์มโคนมที่เป็นมาตรฐาน  ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำนมดิบและความปลอดภัยของผู้บริโภค  ตามวัตถุประสงค์ของประกาศกระทรวงฯ  โดยมีรายละเอียดของคู่มือดังนี้

                        ในคู่มือปฏิบัติงานนี้

                        “แม่โค”                          หมายถึง  โคที่เคยคลอดลูกแล้ว

                        “ฟาร์มขนาดเล็ก”            หมายถึง  ฟาร์มที่มีจำนวนแม่โคไม่เกิน  20 ตัว

                        “ฟาร์มขนาดกลาง”          หมายถึง  ฟาร์มที่มีจำนวนแม่โคอยู่ระหว่าง  21-100  ตัว

                        “ฟาร์มขนาดใหญ่”          หมายถึง  ฟาร์มที่มีจำนวนแม่โคเกินกว่า 100  ตัว

 

องค์ประกอบของฟาร์ม

1.  ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม

1.1  บ้านพักอาศัย   ควรตั้งห่างจากฟาร์มไม่น้อยกว่า  50  เมตร

1.2    อยู่ห่างจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ  ในรัศมีไม่เกิน  20  กิโลเมตร

1.3    สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากภายนอกที่จะเข้ามาในฟาร์ม  อยู่ห่างจากแหล่งชุมชน  โรงฆ่าสัตว์  ตลาดนัดค้าสัตว์   และแหล่งน้ำสาธารณะ  ไม่น้อยกว่า  5  กิโลเมตร

1.4    ฟาร์มไม่ก่อมลภาวะต่อเพื่อนบ้าน  หรือได้รับการยินยอมจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  (กรณีจัดตั้งฟาร์มใหม่)

 

2.  ลักษณะของฟาร์ม

2.1    มีร่มเงาพอเพียงสำหรับโคทุกตัว

2.2    มีพื้นที่สำหรับโค  ดังนี้

-  ระบบยืนโรง                ต้องการพื้นที่ไม่น้อยกว่า  4  ตารางเมตร / ตัว

-  ระบบเลี้ยงปล่อย         ต้องการพื้นที่ไม่น้อยกว่า  6  ตารางเมตร / ตัว

2.3    เป็นเจ้าของพื้นที่หรือมีสิทธิการใช้พื้นที่ที่ถูกต้อง

2.4  มีบริเวณโรงเรือนเลี้ยง   โรงพัก   ลูกโค  โ ครุ่น   โคสาว   ที่เก็บอาหารและเวชภัณฑ์  แยกเป็น

สัดส่วนและไม่ให้สัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นพาหะนำโรค  เช่น  สุนัข  แมว  เข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงโคนม

2.5   น้ำใช้ในฟาร์ม  เพื่อสุขภาพและสุขอนามัยของโคนมในฟาร์ม   น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค  

  ในฟาร์มต้องเป็นน้ำที่สะอาด  เหมาะสมที่จะนำมาใช้ โดยพิจารณาจาก

          -  แหล่งน้ำธรรมชาติจาก บ่อ สระ  น้ำบาดาล  เหล่านี้  ต้องมาจากบริเวณที่ไม่มีการ ปนเปื้อนน้ำเสียจากโรงเรือนเลี้ยงสัตว์   โรงงานอุตสาหกรรม  ที่พักอาศัย สำนักงาน  ฯลฯ 

          -  ลักษณะน้ำ  มีลักษณะใส  สะอาด  ปราศจากสิ่งแขวนลอย

 

3.  ลักษณะของโรงเรือน

            โรงเรือนโคนม  มีลักษณะดังนี้  

3.1 พื้นโรงรีดนมต้องทำด้วยคอนกรีตไม่ขัดมัน  มีความลาดเอียง  มีระบบระบายน้ำที่ดี  เพื่อป้องกัน   ไม่ให้เกิดการสะสมของเสียขึ้นภายในโรงเรือน  และยกระดับสูงขึ้นกว่าระดับพื้นดิน  เช่นเดียวกับพื้นโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ กรณีพื้นของโรงเรือนเป็นดิน  ต้องมีระบบการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ  เพื่อป้องกันการหมักหมมของของเสียที่อาจเป็นแหล่งเพาะโรคได้

3.2 หลังคาโรงเรือนยกสูงโปร่ง  ไม่ต่ำกว่า  2  เมตร   อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี   ไม่มีสิ่งก่อสร้าง

      หรือวัตถุบังทางลม  สามารถป้องกันความร้อนจากแสงแดด และกันฝนได้

3.3  โรงเรือนต้องสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวร  เพื่อให้มีอายุการใช้งานนาน  และไม่ก่อให้เกิด   อันตรายต่อตัวสัตว์และบุคลากรที่ทำงานในฟาร์ม        

3.4  รางอาหารและน้ำ   ต้องถูกสร้างขึ้นให้สะดวกในการทำความสะอาด และมีพอเพียงกับขนาด  

และจำนวนของโคที่เลี้ยงในแต่ละโรงเรือน

3.5    พื้นโรงเลี้ยงโคบริเวณที่ติดกับรางอาหาร  ควรเป็นพื้นคอนกรีต  ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า  1.5  เมตร  เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาด และให้อาหาร

 

การจัดการฟาร์ม

1.  การจัดการโรงเรือน

          1.1  โรงเรือนเลี้ยงโค  มีความสะอาดและแห้ง

-  ต้องล้างรางอาหารและรางน้ำอย่างสม่ำเสมอ   ไม่ให้มีเศษอาหารเก่า   เชื้อรา   

   หรือมูลโค 

-  ต้องเก็บกวาดมูลโค  และเศษอาหารออกจากพื้นโรงเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ

-  ต้องตัดหญ้า  และทำความสะอาดรอบๆ รั้วของโรงเลี้ยง  เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

   และแมลงต่าง ๆ   ที่เป็นพาหะของโรค

            1.2  อุปกรณ์การรีดนม  ต้องมีความสะอาดและแห้ง

-  ภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสกับน้ำนม  ต้องเป็นโลหะไร้สนิม  เช่น อลูมิเนียม  แสตนเลส

   และไม่มีรอยตะเข็บ

-  ภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสกับน้ำนม  ต้องไม่มีกลิ่นน้ำนมบูด  ต้องล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

   อย่างสม่ำเสมอ  เช่น  น้ำยาคลอรีนความเข้มข้น  200  พีพีเอ็ม.

 

2.  การจัดการด้านบุคลากร

            2.1  การดูแลด้านสุขภาพสัตว์ และการใช้ยาในฟาร์ม

- มีสัตวแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบการวิชาชีพการสัตว์แพทย์ชั้นหนึ่งตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์  พ.ศ. 2545 และได้รับใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มโคนมจากกรมปศุสัตว์

            2.2  การจัดการเลี้ยงดูฝูงโคและการสุขาภิบาลในฟาร์ม

-  มีบุคลากรด้านสัตวบาลและผู้เลี้ยงสัตว์พอเพียงและเหมาะสมกับจำนวนโค  ทั้งนี้ จำนวน  แรงงานอาจขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ  ได้แก่  ชนิดของโรงเรือน ระบบการเลี้ยง  อุปกรณ์  และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆในฟาร์ม

- บุคลากรที่ทำงานในฟาร์มต้องได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี  เพื่อป้องกันโรค

   ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน  หรือจากคนสู่สัตว์  โดยเฉพาะวัณโรค

 

3. คู่มือการจัดการฟาร์ม

            ผู้ประกอบการต้องมีคู่มือการจัดการฟาร์ม  ที่มีรายละเอียดของการจัดการเลี้ยงดู  การให้อาหาร การป้องกันโรค การใช้ยาในฟาร์ม และข้อควรระวังของโคนม  เพื่อที่จะสามารถใช้ประเมินประสิทธิภาพของฟาร์มโคนม  ซึ่งมีรายละเอียดการปฏิบัติแต่ละระยะ  ดังนี้

3.1    การจัดการ  ลูกโคแรกคลอด  ถึง  หย่านม

3.2    การจัดการ  โครุ่น-โคสาว  (ตั้งแต่หย่านม-ผสมพันธุ์ได้)

3.3    การจัดการโคท้อง

3.4    การจัดการ  โครีดนม

3.5    การจัดการ  แม่โคแห้งนม

 

4.  ระบบการบันทึกข้อมูล

            ฟาร์มโคนมจะต้องมีระบบการบันทึกข้อมูล  ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบหรือเป็นบันทึกช่วยจำเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นภายในฟาร์ม  แล้วสามารถนำมาประมวลผลเพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตของฟาร์ม  ทำให้การจัดการต่าง ๆ  เป็นไปอย่างมีระบบและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องกับสาเหตุ  นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ยังสามารถใช้ในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ต่อไป  อาทิเช่น พันธุกรรม  และสุขภาพสัตว์  เป็นต้น  บันทึกที่ควรมีได้แก่

            4.1  มีบัตรประจำตัวโค  เครื่องหมายตัวสัตว์ และพันธุ์ประวัติ  บันทึกระบบการสืบพันธุ์  บันทึกผลผลิตนมและบันทึกสุขภาพสัตว์  การใช้ยาสัตว์

            4.2  มีการบันทึกการจัดการอาหารสัตว์และระบบบัญชีรายรับ-รายจ่ายของฟาร์ม

 

5.  การจัดการด้านอาหารสัตว์

-  อาหารหยาบและอาหารข้น

   จัดให้มีอาหารหยาบคุณภาพดีเพียงพอกับความต้องการของสัตว์และสอดคล้องกับ

   อาหารข้น

            แหล่งที่มาของอาหารข้น

            -  ซื้อจากผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ต้องไม่มีสารตกค้าง 

    และห้ามใช้สารต้องห้ามตาม  พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์  พ.ศ.2525  และ พ.ศ.2542 

-  ในกรณีที่ผสมอาหารสัตว์เอง  ต้องไม่ใช้สารต้องห้ามตาม  พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525  และ  พ.ศ.2542  และห้ามใช้ยาสัตว์ทุกชนิดผสมอาหาร

-  เมล็ดธัญพืชที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์  ควรซื้อมาเป็นเมล็ดแล้วบดเอง  เช่น  ข้าวโพด  

    ข้าวฟ่าง

 

            ภาชนะบรรจุและการขนส่ง

 

            -   ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์  ต้องใหม่  สะอาด  แห้ง  กันความชื้นได้  ไม่เคยใช้บรรจุวัตถุมีพิษ  ปุ๋ย

หรือวัตถุอื่นใด   ที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์   ไม่มีสารที่จะปนเปื้อนกับอาหารสัตว์   ไม่มีเชื้อรา    

และจุลินทรีย์   การขนส่งอาหารสัตว์จากผู้ขาย   ผู้ผลิต  ผู้นำเข้า  มาสู่ฟาร์ม ต้องรักษาสภาพ

ของอาหารสัตว์ตลอดการขนส่ง

            การตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์

                มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  หรือตามการสุ่มตรวจ

    จากเจ้าหน้าที่

            การเก็บอาหารสัตว์

                 เก็บในห้องเก็บอาหารสัตว์โดยเฉพาะ  บนพื้นรองที่ยกสูงจากพื้นห้อง  ห้องเก็บอาหารต้อง

     สะอาด  ไม่อับชื้น      

 

การจัดการด้านสุขภาพสัตว์

            ฟาร์มจะต้องมีการจัดการด้านสุขภาพสัตว์  เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในด้านการป้องกันและควบคุมโรค  รวมทั้งการบำบัดโรค  เพื่อผลต่อสุขภาพโคนม  และน้ำนมดิบที่ได้มาตรฐาน

 

1. การป้องกันและควบคุมโรค

1.1  มีระบบการทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม  โดยมีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อโรค  หรือ  มีการ

       พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค  ก่อนเข้าฟาร์ม

1.2  ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นคอก  และพื้นโรงรีดนมเดือนละครั้ง  หรือหลังพบมีโรคเต้านม

อักเสบ

1.3   มีโปรแกรมการให้วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย   โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย   และมีโปรแกรม       

       กำจัดพยาธิภายในและภายนอก  รวมทั้ง มีการดูแลการตัดแต่งกีบโคทุกตัวที่มีปัญหา  เพื่อให้โคเดินได้สะดวก  ไม่เป็นการทรมานสัตว์

1.4  มีการตรวจ  โรควัณโรค  และโรคแท้งติดต่อ   เป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  และรับรอง 

       ผลการตรวจโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม

1.5  โคนมที่ซื้อเข้าฟาร์ม   จะต้องได้รับการกักโรคและตรวจรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม     

1.6    ในกรณีเกิดโรคระบาด   ต้องแจ้งสัตวแพทย์ประจำท้องที่  และปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด

โดยพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์  พ.ศ.2499  และ  พ.ศ.2542  และให้แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง

 

2.  การบำบัดโรค

                การใช้เวชภัณฑ์สำหรับรักษาโคนม  ให้มีการใช้เวชภัณฑ์ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง  ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์  พ.ศ.  2545 และมีใบอนุญาตเป็น    สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มโคนม   หรือบุคคลที่สัตวแพทย์มอบหมาย  การใช้เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์  โดยสัตวแพทย์ต้องให้คำแนะนำและเขียนใบสั่งเวชภัณฑ์โดยมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร  และให้บันทึกข้อมูลการใช้ยาสำหรับสัตว์ในระบบการบันทึกข้อมูล  สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มจะต้องคำนึงถึงสารตกค้างในน้ำนม  โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิและอื่น ๆ  โดยสัตวแพทย์จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ข้อกำหนดการควบคุมการใช้ยาสำหรับสัตว์  (มอก.7001-2540)  และข้อกำหนดในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์  พ.ศ.2499  และ  พ.ศ.2542 

การจัดการสิ่งแวดล้อม

            สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ  รวมถึงขยะ  ต้องผ่านการกำจัดอย่างเหมาะสม  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยข้างเคียง  หรือสิ่งแวดล้อม  ประกอบด้วย

            1.  ขยะมูลฝอย   ต้องมีภาชนะรองรับขยะมูลฝอย ซึ่งมีฝาปิดมิดชิด   แล้วทำการเก็บรวบรวมนำไปทิ้งในบริเวณที่ทิ้งของเทศบาล สุขาภิบาล  หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  หรือรวบรวมและกำจัดในที่กำจัดขยะซึ่งแยกไว้เป็นสัดส่วน  แยกออกจากบริเวณที่เลี้ยงโค 

            2.  ซากสัตว์  กรณีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มแนะนำให้ทำลายซาก  ให้ฝังซากสัตว์ใต้ระดับผิวดิน ไม่น้อยกว่า  50 เซนติเมตร  ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสมราด  หรือ โรยไปบนซากสัตว์นั้นจนทั่วถึง  แล้วกลบดินปิดปากหลุมและพูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า  50 เซนติเมตร

            3.  มูลสัตว์  เก็บกวาดไม่ให้เกิดการหมักหมมภายในโรงเรือน  หรือที่อยู่ของโค จนเกิดกลิ่นอันก่อให้เกิดความรำคาญต่อโค  ผู้เลี้ยง และผู้อยู่อาศัยข้างเคียง

            4.  น้ำเสีย  ในกรณีปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ  ฟาร์มจะต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสม  และมีคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพ  น้ำทิ้งที่ราชการกำหนด

 

การผลิตน้ำนมดิบ

การจัดการด้านสุขอนามัยการผลิตน้ำนมดิบ

-  เกษตรกรผู้ทำการรีดนม           

            เกษตรกรควรมีสุขภาพดี  ปราศจากโรคติดต่อที่จะแพร่กระจายเชื้อมายังโคนมหรือน้ำนม  ขณะ

ปฏิบัติงานควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด

-  ตัวแม่โครีดนม

 

            1.  การจัดการก่อนการรีดนมโดยทั่วไป

1.1    เช็ดล้างตัวโคและเต้านม  ทำความสะอาดหัวนมโดยเฉพาะปลายหัวนม  ด้วยน้ำยาคลอรีน  ก่อนทำการรีดนมทุกครั้ง

1.2    รีดน้ำนมจากเต้า  2-3  ครั้ง  เพื่อดูลักษณะน้ำนม  และช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ปลายหัวนม

1.3    กรณีที่สงสัยว่าโคนมมีปัญหาเต้านมอักเสบควรตรวจสอบด้วย  น้ำยา ซี.เอ็ม.ที.  ก่อนรีดนมทุกครั้ง

1.4    ทุกครั้งที่รีดน้ำนมเสร็จ  ควรชั่งน้ำหนักและจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่รีดได้ของโคนม  แต่ละตัวในแต่ละมื้อและแต่ละวัน

 

2.  การจัดการกรณีพบแม่โค  แสดงอาการโรคเต้านมอักเสบ

2.1    โคนมที่มีผล  ซี.เอ็ม.ที.  บวก  ต้องรีดน้ำนมให้หมดเต้า  และต้องรีดนมโคตัวนั้นเป็นตัวสุดท้าย

2.2    โคนมที่ใช้ยาปฏิชีวนะอยู่  ต้องไม่ส่งนมและคำนึงถึงระยะหยุดยา

วิธีการรีดนม

 

3.  การรีดนมด้วยมือ

3.1    รีดนมด้วยมือให้ถูกหลักวิธี  โดยรีดนิ้วมือให้ถูกต้อง

3.2    มือของเกษตรกรต้องแห้งและสะอาด

3.3    หลังจากรีดนมเสร็จ  ต้องจุ่มหัวนมด้วยน้ำยาจุ่มหัวนมทุกครั้ง

 

4. การรีดนมด้วยเครื่อง

4.1    รีดนมให้ถูกหลักวิธี ตามคำชี้แจงการใช้เครื่องรีดนม

4.2    มือของเกษตรกรต้องแห้งและสะอาด

4.3    หลังจากรีดนมเสร็จ  ต้องจุ่มหัวนมด้วยน้ำยาจุ่มหัวนมทุกครั้ง

4.4    ต้องดูแลรักษาความสะอาดเครื่องรีดโดยถอดชิ้นส่วนออกล้าง  และผึ่งลมให้แห้งทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ   ต้องหมั่นตรวจเครื่องปั๊มลม  ตรวจดูปริมาณน้ำมันเครื่อง  แรงอัดอากาศของลูกสูบแรงดันลม  แรงอัดอากาศในหัวเครื่องรีดและจังหวะของเครื่องรีด  และเปลี่ยนชิ้นส่วนยางรีดหรือท่อยางที่เสื่อมคุณภาพ

  

การเก็บรักษาและการขนส่งน้ำนมดิบ

1.  เกษตรกรควรปฏิบัติดังนี้

1.1    หลังจากรีดนมโคเสร็จ  เกษตรกรต้องรีบส่งน้ำนมนั้นให้เร็วที่สุด  หากไม่ได้ส่งเองก็ไม่ควรปล่อยให้ถังนมนั้นถูกทิ้งตากแดด  ควรวางถังนมไว้ใต้ร่มเงา  เพราะความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในน้ำนมแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้คุณภาพน้ำนมลดลง

1.2    หลังจากส่งน้ำนมแล้วต้องรีบล้างถังนมให้สะอาดและคว่ำผึ่งให้แห้งเพื่อนำมาใช้ในมื้อต่อไป  การทิ้งถังนมไว้ค้างมื้อ  น้ำนมบางส่วนที่ตกค้างในถังจะบูดเน่า  เมื่อนำมาบรรจุน้ำนมในมื้อต่อไปจุลินทรีย์ที่หลงเหลืออยู่จะทำให้คุณภาพน้ำนมลดต่ำกว่าเดิม

คุณภาพน้ำนมดิบ  พิจารณาจากการตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำนมดิบ  ดังต่อไปนี้

  1. องค์ประกอบน้ำนม  ได้แก่

            ไขมัน  (FAT)                                                            ไม่น้อยกว่าร้อยละ           3.5

            โปรตีน  (PROTIEN)                                      ไม่น้อยกว่าร้อยละ           3.2

            ธาตุน้ำนมไม่รวมไขมัน  (SOLID  NOT  FAT)   ไม่น้อยกว่าร้อยละ           8.25

            ธาตุน้ำนมทั้งหมด  (TOTAL  SOLID)             ไม่น้อยกว่าร้อยละ           12.5

  1. ความสะอาดน้ำนมและสารปนเปื้อนในน้ำนม

            จุดเยือกแข็ง  หรือ  ค่าความถ่วงจำเพาะ

            จุดเยือกแข็ง  ควรมีค่าระหว่าง  -0.520  ถึง  -0.525  องศาเซลเซียส

            ความถ่วงจำเพาะที่  20  องศาเซลเซียส  มีค่า  1.028

            ชั่วโมงการเปลี่ยนสีของเมทธีลีนบลูมากกว่า  4  ชั่วโมง  หรือ  รีซาซูรินมากกว่า  4.5  จุด  อ่านผลที่  1  ชั่วโมง

            ปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด                    ไม่มากกว่า         600,000           โคโลนี/มิลลิลิตร

            ปริมาณจุลินทรีย์โคไลฟอร์ม    ไม่มากกว่า           10,000           โคโลนี/มิลลิลิตร

            ปริมาณจุลินทรีย์ทนร้อน                     ไม่มากกว่า             1,000           โคโลนี/มิลลิลิตร

            ปริมาณเซลล์โซมาติก                        ไม่ควรเกิน          500,000           เซล/มิลลิลิตร

            ยาปฏิชีวนะให้ผลลบเมื่อทดสอบด้วย  Delvo  test  หรือ  KS-9  หรือชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

การเก็บตัวอย่างน้ำนม  เพื่อการตรวจสอบคุณภาพน้ำนม

  1. สหกรณ์หรือศูนย์รวมน้ำนม  ควรสุ่มตัวอย่างของสมาชิกตรวจเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ  1  ครั้ง
  2. เก็บตัวอย่างเพื่อดูปริมาณจุลินทรีย์หรือการเปลี่ยนสีของเมทธีนลีนบลู  หรือ รีซาซูริน  ควรเก็บตัวอย่างจากถังน้ำนมรวมของเกษตรกรใส่ในภาชนะฝาปิดนึ่งฆ่าเชื้อ  ในปริมาตรประมาณ  200  มิลลิลิตร  การตรวจสอบชนิดอื่นสามารถเก็บในขวดฝาปิดที่ล้างสะอาดในปริมาตรที่เท่ากัน
  3. การตรวจคุณภาพน้ำนมของโคแต่ละตัว  ให้เก็บตัวอย่างน้ำนมในปริมาตรเพียง  30  มิลลิลิตร  และคุณภาพน้ำนมดิบ  โดยรวมของฟาร์มโคนม  ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ฉบับที่  26  พ.ศ.2522  และหรือ  มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนมสด  (มอก.738-2530)

 

 

Visitors: 119,611